หน้าฝนกับอากาศที่เปลี่ยนแปลง ป้องกันลูกชักจากไข้สูง

Last updated: 10 Jan 2020  |  2710 Views  | 

หน้าฝนกับอากาศที่เปลี่ยนแปลง ป้องกันลูกชักจากไข้สูง



หน้าฝนกับอากาศที่เปลี่ยนแปลง ป้องกันลูกชักจากไข้สูง


"ไข้" เป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็ก ถ้าเป็นไข้ต่ำๆ ลูกอาจไม่ได้มีอาการผิดปกติใดชัดเจน แต่หากลูกมี ”ไข้สูง” อาจมีอาการผิดปกติอย่างอื่นซึ่งเป็นอันตรายตามมาได้ เรามาดูกันนะคะว่าอันตรายเมื่อลูกเป็นไข้สูงมีอะไรบ้าง และจะสามารถป้องกันได้อย่างไร


ทราบได้อย่างไรว่าลูกมีไข้สูง?

ถ้าลูกมีไข้สูง เราจะทราบได้เบื้องต้นโดยการสัมผัสตัวของลูกแล้วตัวร้อนจัด หากวัดอุณหภูมิทางปากหรือทางทวารหนักจะได้ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือวัดอุณหภูมิทางรักแร้ได้มากกว่า 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป จึงจะเรียกว่ามี "ไข้สูง"
อันตรายจากไข้สูงมีอะไรบ้าง?

เมื่อลูกมีไข้สูงนอกจากจะทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลเพราะลูกดูซึม หรือร้องกวนกว่าปกติแล้ว ยังมีอาการที่พบร่วมกับการเป็นไข้สูง ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว และอาจมีอาการร่วมอื่นๆ ซึ่งแตกต่างกันตามสาเหตุของไข้เช่น มีผื่นขึ้นตามตัวเมื่อมีไข้สูงจากการติดเชื้อไวรัส เป็นต้น

ชักจากไข้สูงคืออะไร?

อาการชักจากไข้สูง คือ การชักที่เกิดจากสมองของเด็กเล็กยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้มีโอกาสชักได้เมื่อถูกกระตุ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น มีอุณหภูมิร่างกายสูง ลักษณะการชักจะเป็นแบบเกร็งหรือกระตุกทั้งตัว เป็นทั้งข้างซ้ายและขวาเท่าๆ กัน ในระยะเวลาที่ชักไม่เกิน 15 นาที ส่วนมากมักจะหยุดได้เองภายในเวลา 3-5 นาที หลังจากชักเด็กจะรู้สึกตัวดี อาการนี้จะเกิดขึ้นหลังจากมีไข้สูง ไม่เกิน 24-48 ชั่วโมง

เราสามารถป้องกันอาการชักจากไข้สูงได้อย่างไร?

เบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่อาจเช็ดตัวก่อน โดยเช็ดตัวให้ลูกบ่อยๆ ด้วยน้ำที่อุณหภูมิห้อง ไม่เย็นจัดร้อนจัดจนเกินไป การเช็ดตัวที่ถูกวิธีคือ ควรเช็ดย้อนขึ้น เช่น เช็ดจากมือย้อนขึ้นไปที่ต้นแขน

หากเช็ดตัวแล้วไข้ยังไม่ลงก็สามารถทานยาลดไข้ได้ โดยเฉพาะยาพาราเซตามอลซึ่งเป็นยาลดไข้ที่มีความปลอดภัยสูง ใช้ได้ตั้งแต่เด็กเล็กอายุ 1 เดือนขึ้นไป สามารถให้ยาซ้ำได้ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง โดยให้ปริมาณยาตามน้ำหนักตัว ขนาดยาพาราเซตามอลที่เด็กควรได้รับคือ 10-15 มก./กก./ครั้งค่ะ ยกตัวอย่างเช่น เราเลือกใช้ยาพาราเซตามอลชนิดน้ำขนาด 160 มก./5 ซีซี ถ้าลูกมีน้ำหนัก 16 กิโลกรัม ก็ทาน 1 ช้อนชา หรือ 5 ซีซี ถ้าลูกมีน้ำหนัก 32 กิโลกรัมก็ทาน 2 ช้อนชา หรือ 10 ซีซี
ทั้งนี้ หากลูกมีไข้สูง แม้จะเช็ดตัวลดไข้ และป้อนยาลดไข้ แล้วไข้ไม่ลดลง ร่วมกับมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ ได้แก่ ลูกดูซึมลงมาก หรือมีไข้ติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไปโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมกับมีไข้ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจ ก็ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อทำการหาสาเหตุของไข้และรักษาอย่างถูกต้องต่อไป



บทความดีๆจาก theasianparent


 

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy