วิธีการเก็บน้ำนมเเม่

Last updated: 15 Jun 2021  |  3862 Views  | 

วิธีการเก็บน้ำนมเเม่


การปั๊มนมแม่ การเก็บรักษานมแม่ และวิธีการนำมาใช้

อุปกรณ์ในการปั๊มนมแม่ และเก็บน้ำนม มีดังนี้

1.เครื่องปั๊มนม ทั้งแบบไฟฟ้า แบบใช้แบตเตอร์รี่ หรือแบบปั๊มมือธรรมดา หรือมือของคุณแม่เอง

2.ถุงเก็บน้ำนม หรือขวดเก็บน้ำนม

3.กระติกน้ำแข็ง สำหรับในกรณีที่คุณแม่ต้องออกไปปั๊มนมนอกบ้าน และตู้เย็นเก็บสต็อกน้ำนมในบ้าน

วิธีการปั๊มนมแม่มีวิธีการที่ไม่ยากเลยค่ะ

        การปั๊มนมแม่ สามารถทำด้วยการบีบน้ำนมหรือใช้เครื่องปั๊มน้ำนม โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปั๊มนมคือช่วงเช้ามืด ประมาณตี 5 – 7 โมงเช้า  เพราะในช่วงเวลานี้ร่างกายของคุณแม่สามารถผลิตน้ำนมได้มากที่สุดจึงเหมาะแก่การทำสต็อกน้ำนมแม่เก็บไว้ค่ะ การปั๊มนมในระยะแรกคุณแม่อาจจะปั๊มน้ำนมออกมาไม่ได้มาก ให้คุณแม่ทำอย่างสม่ำเสมอทุกวันน้ำนมก็จะไหลออกมาเพิ่มมากขึ้นค่ะ
ระยะเวลาที่เหมาะสมในการปั๊มนมในช่วงแรก ๆ ที่พึ่งเริ่มหัดปั๊มควรปั๊มให้ได้ 8 – 10 ครั้งต่อวัน โดยแต่ละครั้งใช้เวลาอย่างน้อย 10 -15 นาที ต่อข้าง และเมื่อคุณแม่มีประสบการณ์ในการปั๊มนมมากขึ้นแล้วอาจลดจำนวนครั้งในการปั๊มเป็น 5-7 ครั้งต่อวัน โดยใช้เวลาเพียง  10 นาทีในการปั๊มนมต่อข้าง หรือพร้อมกัน 2 ข้าง (หากเป็นเครื่องแบบปั๊มคู่) ควรปั๊มน้ำนมออกให้เกลี้ยงเต้าเพื่อช่วยให้น้ำนมผลิตได้เร็วขึ้น

วิธีการเก็บรักษานมแม่และระยะเวลาที่เก็บได้

•หากอยู่ในห้องที่อุณหภูมิมากกว่า 25 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้ 1 ชั่วโมง

•หากอยู่ในห้องที่อุณหภูมิน้อยกว่า 25 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้ 4 ชั่วโมง

•หากเก็บไว้ในกระติกน้ำแข็ง สามารถเก็บไว้ได้ 1 วัน

•หากเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา สามารถเก็บได้ 2-3 วัน

•สำหรับตู้เย็นช่องแช่แข็งแบบประตูเดียว สามารถเก็บได้ 2 สัปดาห์

•สำหรับตู้เย็นช่องแช่แข็งแบบประตูแยก สามารถเก็บได้ 3 เดือน

การนำน้ำนมแม่ที่แช่เย็นมาใช้

1.น้ำนมแม่ที่แช่แข็งไว้ หากต้องการนำมาใช้ให้ทำการละลายด้วยการนำมาแช่ในตู้เย็นปกติประมาณ 12 ช.ม. หลังจากนั้นจึงนำมาแช่ในน้ำอุ่นก่อนนำมาให้ลูกกิน ไม่ควรนำไปอุ่นด้วยการนำเข้าไมโครเวฟ หรือละลายในน้ำร้อนจัด เพราะจะเป็นการทำลายเซลล์ที่มีชีวิตที่อยู่ในน้ำนมแม่

2.น้ำนมแม่ที่แช่แข็งไว้เมื่อละลายแล้ว ยังสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 24 ช.ม.

3.น้ำนมแม่ที่แช่แข็งไว้เมื่อละลายแล้ว ไม่ควรนำกลับไปแช่แข็งอีก

4.น้ำนมแม่ที่ละลายแล้ว หากลืมวางไว้ที่อุณหภูมิห้องนานเกิน 1 ชั่วโมง ให้ทิ้งไป ไม่ควรเก็บไว้กินต่อ

5.น้ำนมแม่ที่ละลายแล้วหากมีกลิ่นหืน ยังถือว่าปกติอยู่ค่ะ ยังไม่เสีย แต่ถ้าหากมีกลิ่นรุนแรง มีรสเปรี้ยว แสดงว่าน้ำนมนั้นเสียแล้วค่ะ ไม่ควรนำมาใช้อีก

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy