Last updated: 15 มิ.ย. 2564 | 3715 จำนวนผู้เข้าชม |
การปั๊มนมแม่ การเก็บรักษานมแม่ และวิธีการนำมาใช้
อุปกรณ์ในการปั๊มนมแม่ และเก็บน้ำนม มีดังนี้
1.เครื่องปั๊มนม ทั้งแบบไฟฟ้า แบบใช้แบตเตอร์รี่ หรือแบบปั๊มมือธรรมดา หรือมือของคุณแม่เอง
2.ถุงเก็บน้ำนม หรือขวดเก็บน้ำนม
3.กระติกน้ำแข็ง สำหรับในกรณีที่คุณแม่ต้องออกไปปั๊มนมนอกบ้าน และตู้เย็นเก็บสต็อกน้ำนมในบ้าน
วิธีการปั๊มนมแม่มีวิธีการที่ไม่ยากเลยค่ะ
การปั๊มนมแม่ สามารถทำด้วยการบีบน้ำนมหรือใช้เครื่องปั๊มน้ำนม โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปั๊มนมคือช่วงเช้ามืด ประมาณตี 5 – 7 โมงเช้า เพราะในช่วงเวลานี้ร่างกายของคุณแม่สามารถผลิตน้ำนมได้มากที่สุดจึงเหมาะแก่การทำสต็อกน้ำนมแม่เก็บไว้ค่ะ การปั๊มนมในระยะแรกคุณแม่อาจจะปั๊มน้ำนมออกมาไม่ได้มาก ให้คุณแม่ทำอย่างสม่ำเสมอทุกวันน้ำนมก็จะไหลออกมาเพิ่มมากขึ้นค่ะ
ระยะเวลาที่เหมาะสมในการปั๊มนมในช่วงแรก ๆ ที่พึ่งเริ่มหัดปั๊มควรปั๊มให้ได้ 8 – 10 ครั้งต่อวัน โดยแต่ละครั้งใช้เวลาอย่างน้อย 10 -15 นาที ต่อข้าง และเมื่อคุณแม่มีประสบการณ์ในการปั๊มนมมากขึ้นแล้วอาจลดจำนวนครั้งในการปั๊มเป็น 5-7 ครั้งต่อวัน โดยใช้เวลาเพียง 10 นาทีในการปั๊มนมต่อข้าง หรือพร้อมกัน 2 ข้าง (หากเป็นเครื่องแบบปั๊มคู่) ควรปั๊มน้ำนมออกให้เกลี้ยงเต้าเพื่อช่วยให้น้ำนมผลิตได้เร็วขึ้น
วิธีการเก็บรักษานมแม่และระยะเวลาที่เก็บได้
•หากอยู่ในห้องที่อุณหภูมิมากกว่า 25 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้ 1 ชั่วโมง
•หากอยู่ในห้องที่อุณหภูมิน้อยกว่า 25 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้ 4 ชั่วโมง
•หากเก็บไว้ในกระติกน้ำแข็ง สามารถเก็บไว้ได้ 1 วัน
•หากเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา สามารถเก็บได้ 2-3 วัน
•สำหรับตู้เย็นช่องแช่แข็งแบบประตูเดียว สามารถเก็บได้ 2 สัปดาห์
•สำหรับตู้เย็นช่องแช่แข็งแบบประตูแยก สามารถเก็บได้ 3 เดือน
การนำน้ำนมแม่ที่แช่เย็นมาใช้
1.น้ำนมแม่ที่แช่แข็งไว้ หากต้องการนำมาใช้ให้ทำการละลายด้วยการนำมาแช่ในตู้เย็นปกติประมาณ 12 ช.ม. หลังจากนั้นจึงนำมาแช่ในน้ำอุ่นก่อนนำมาให้ลูกกิน ไม่ควรนำไปอุ่นด้วยการนำเข้าไมโครเวฟ หรือละลายในน้ำร้อนจัด เพราะจะเป็นการทำลายเซลล์ที่มีชีวิตที่อยู่ในน้ำนมแม่
2.น้ำนมแม่ที่แช่แข็งไว้เมื่อละลายแล้ว ยังสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 24 ช.ม.
3.น้ำนมแม่ที่แช่แข็งไว้เมื่อละลายแล้ว ไม่ควรนำกลับไปแช่แข็งอีก
4.น้ำนมแม่ที่ละลายแล้ว หากลืมวางไว้ที่อุณหภูมิห้องนานเกิน 1 ชั่วโมง ให้ทิ้งไป ไม่ควรเก็บไว้กินต่อ
5.น้ำนมแม่ที่ละลายแล้วหากมีกลิ่นหืน ยังถือว่าปกติอยู่ค่ะ ยังไม่เสีย แต่ถ้าหากมีกลิ่นรุนแรง มีรสเปรี้ยว แสดงว่าน้ำนมนั้นเสียแล้วค่ะ ไม่ควรนำมาใช้อีก
20 พ.ย. 2567
26 มี.ค. 2567
18 ก.ย. 2567
7 ก.ย. 2567