พิธี “ทำขวัญทารก” ต้อนรับสมาชิกใหม่เข้าบ้าน

Last updated: 20 Jul 2022  |  51596 Views  | 

พิธี “ทำขวัญทารก” ต้อนรับสมาชิกใหม่เข้าบ้าน


พิธี “ทำขวัญทารก” ต้อนรับสมาชิกใหม่เข้าบ้าน

       พิธีทำขวัญให้กับลูกแรกเกิดที่ได้ถือปฏิบัติกันมานั้น กล่าวคือ เมื่อลูกเกิดมาปลอดภัยย่อมเป็นที่ยินดีและได้รับความรักจากพ่อแม่อย่างยิ่ง ลูกจึงเป็นแก้วตาดวงใจอีกหนึ่งดวงที่เกิดมาท่ามกลางญาติพี่น้องทั้งหลาย อีกทั้งทารกแรกเกิดนั้นยังไม่รับรู้ว่าอะไรคืออะไร ฉะนั้นเมื่อเกิดมาแล้วจะต้องมีการทำพิธีมงคลทำขวัญทารกเพื่อให้อยู่กับเนื้อกับตัวและเป็นสิริมงคลแก่ทารก

พิธีทำขวัญทารกแรกเกิด

       ตามความเชื่อโบราณที่ทำกันมา ให้นำทารกมาอาบน้ำชำระร่างกาย อ่างที่เตรียมสำหรับอาบนั้นให้ใส่เงินทองแก้วแหวนไว้ก้นอ่าง โดยถือเคล็ดว่า เมื่อเด็กเติบโตขึ้นจะได้เป็นคนมั่งมีศรีสุข เมื่อเสร็จแล้วจึงปูเบาะลงกระด้ง แล้วนำทารกมาวางลงบนเบาะ ถ้าเป็นเด็กชาย ให้มีสมุดดินสอใส่ไว้ในกระด้ง ถือว่าเมื่อเจริญวัยขึ้นจะได้เป็นผู้รอบรู้วิชาการ ได้เป็นนักปราชญ์ราชครู ถ้าเป็นเด็กหญิงต้องมีด้ายเข็มใส่ เพื่อให้เด็กนั้นมีวิชาการทางเย็บปักถักร้อยเป็นแม่เรือนที่ดีต่อไป

แพทย์ผู้ทำคลอด (หรือหมอตำแย) จะยกกระด้งที่รองทารกขึ้นร่อนพลางแล้วพูดว่า ”สามวันเป็นลูกผี สี่วันเป็นลูกคน ลูกของใครมารับเอาเน้อ” แล้วทิ้งกระด้งลงกับพื้นเบา ๆ พอให้เด็กสะดุ้งร้อง ทำดังนี้จนครบ 3 ครั้ง จากนั้นก็ให้พ่อของทารกเอาสตางค์มาซื้อและกล่าวว่า "ลูกของข้า ฯ เอง” แล้วรับเอากระด้งเด็กนั้นมาวางไว้ที่ข้างแม่ของเด็ก ซึ่งนอกจากพ่อแล้ว คนที่จะสามารถเป็นผู้รับเด็กได้ มักเลือกเชิญญาติผู้ใหญ่ที่สูงอายุ เป็นผู้มีนิสัยอัธยาศัยดี สุภาพเรียบร้อย ทั้งนี้เพื่อให้เด็กนั้นมีนิสัยและความประพฤติที่ดีเจริญรอยตาม


พิธีทำขวัญวัน

        โบราณว่าเด็กที่คลอดออกมาภายในวัน 3 วันแรกนั้นยังถือเป็นลูกผี เมื่อพ้นวันที่ 4 จึงนับว่าเป็นลูกคน ดังนั้นเมื่อทารกมีอายุครบ 3 วัน พ่อแม่จึงมีพิธีทำขวัญให้เด็ก เรียกว่า “ทำขวัญวัน” เป็นพิธีเล็ก ๆ ที่จัดการกันเองในครอบครัว ไม่จำเป็นต้องนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ก็ได้ค่ะ

พิธีการทำขวัญทารก ที่ต้องทำอยู่หน้าถัดไปนะคะ >>

พิธีการทำขวัญทารก ที่ต้องทำมีดังนี้
1. จัดบายศรีปากชาม 1 สำรับ
2. จัดเครื่องกระยาบวด 1 สำรับ
3. จัดหาแป้ง กระแจะ น้ำมัน และของหอมไว้พร้อม
4. จัดหาขันเล็กใส่น้ำอุ่น ช้อนเล็ก 1 คัน และสายสิญจน์

เมื่อญาติพี่น้องมาครบแล้วให้นั่งล้อมวงทารกไว้ มีอาวุโสจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กล่าวอัญเชิญเทวดาเพื่อขอให้คุ้มครองเด็กให้มีความสุขสวัสดี เอาด้ายสายสิญจน์ลูบแขน ใช้มือปัดเคราะห์และโรคภัยออกไป จากนั้นนำด้ายสายสิญจน์อีกเส้นผูกข้อมือเด็กทั้ง 2 ข้าง ด้วยการลูบเส้นด้ายจากปลายนิ้วเข้าไปหาข้อมือของเด็ก พลางกล่าวคำอวยชัยให้พร ให้มีอายุมั่นขวัญยืน เติบโตขึ้นทำราชการ ได้เป็นเจ้าคนนายคน เป็นเจ้าขุนมูลนาย หรือถ้าเป็นเด็กหญิงก็อวยพรให้อยู่ในแนวทางของสตรีเพศ เช่น ให้ได้เป็นคุณหญิงคุณนาย ได้เป็นที่พึ่งแก่บิดามารดาวงศาคณาญาติสืบไป

เมื่อผูกข้อมือเสร็จแล้ว จึงเจิมหน้าผากด้วยกระแจะหอม แล้วเอาช้อนตักน้ำในขันให้เด็กกิน 5 ช้อน ต่อจากนั้นมีการเวียนเทียน แล้วจึงให้ผู้ใหญ่ให้ศีลให้พรเป็นอันเสร็จพิธีทำขวัญ หลังจากนี้ให้นำเครื่องบายศรีและเครื่องกระยาบวดเอาไปเทเซ่นผีไว้กลางแจ้ง ของอื่น ๆ ที่ใช้ในการประกอบพิธี ให้เอาห่อผ้าวางไว้ข้างเบาะของเด็กจนครบ 3 วัน แล้วจึงเอาไปลอยในแม่น้ำหรือคลองที่มีน้ำไหลอยู่เสมอ เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นอันเสร็จพิธีการ

จะเห็นว่าพิธีทำขวัญถือเป็นประเพณีที่ปู่ย่าตายายสมัยโบราณได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน เป็นความเชื่อที่นอกจากจะเป็นสิริมงคลแก่เด็กทารกแล้ว ยังเป็นพิธีหนึ่งที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างครอบครัวและเครือญาติ เพราะพิธีมงคลต่าง ๆ นั้นมีส่วนช่วยในด้านจิตใจได้เป็นอย่างดี.


ขอบคุณบทความดีๆจาก www.sites.google.com

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy