Last updated: 20 ก.ค. 2565 | 10697 จำนวนผู้เข้าชม |
การเลือกขวดนมที่คุณแม่ควรรู้
การเลือกขวดนม ให้เจ้าตัวน้อยควรพิจารณาจากวัสดุที่นำมาผลิต ซึ่งในปัจจุบันขวดนมส่วนใหญ่ผลิตจากพลาสติก แต่ขวดพลาสติกก็มีหลายแบบทั้งขวดใส ขวดขาวขุ่น ขวดสีชา ขวดสีน้ำผึ้ง ทราบไหมคะว่า ขวดนมสีต่างกันมีสรรพคุณที่แตกต่างกันอย่างไร
-การเลือกขวดนมพลาสติก
ขวดนมพลาสติกเป็นขวดนมที่หาซื้อได้ง่ายและเป็นที่นิยม เนื่องจากมีน้ำหนักเบา ตกไม่แตก หาซื้อง่าย และมีให้เลือกหลายราคาตามกำลังทรัพย์
-ขวดนมพลาสติกแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร
ขวดนมที่ผลิตจากพลาสติกต่างชนิดกัน จะมีสี การทนต่อความร้อน และอายุการใช้งานที่แตกต่างกัน
- ขวดนม PP ผลิตจากวัสดุ Polypropylene
เนื้อพลาสติกจะมีสีกึ่งโปร่งใส หรือสีขาวขุ่น
ทนอุณหภูมิ -20 - 110 ˚C
มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 6 เดือน และอาจเหลือ 3 เดือนถ้านึ่งหรือต้มบ่อยเกินไป
- ขวดนม PES ผลิตจากวัสดุ Polyethersulfone
เนื้อพลาสติกออกสีน้ำผึ้ง หรือสีชา
ทนอุณหภูมิ -50 - 180 ˚C
มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 6 เดือน ถึง 1 ปี ขึ้นกับการดูแลรักษา และความถี่ในการต้ม หรือนึ่งฆ่าเชื้อ
- ขวดนม PPSU ผลิตจากวัสดุ polyphenylsulfone
ขวดสีน้ำตาลอ่อน
ทนอุณหภูมิ -50 - 180 ˚C
มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 8 เดือน ถึง 2 ปี ขึ้นกับการดูแลรักษา และความถี่ในการต้ม หรือนึ่งฆ่าเชื้อ
นอกจากนี้ คุณภาพของพลาสติกชนิดเดียวกันแต่คนละเกรด ก็ทำให้ขวดนมมีความแตกต่างกันอีกด้วย เช่น ขวด PP ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงไม่ผสมเศษ ขวดมักจะใสกว่า เป็นต้น
สัญลักษณ์ BPA Free จำเป็นแค่ไหน
คุณแม่อาจเคยได้ยินว่าถ้าซื้อขวดนมให้เลือกที่เป็น BPA Free เนื่องจากเมื่อขวดนมถูกล้างทำความสะอาดบ่อยๆ จะเกิดรอยขีดข่วน เกิดคราบขุ่นๆ รวมถึงเมื่อสัมผัสความร้อนบ่อยๆ สาร BPA ในขวดนมพลาสติกอาจปนเปื้อนลงไปในน้ำนม และหากสะสมเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสมอง เซลล์ประสาท พฤติกรรม การเรียนรู้ และส่งผลต่อความผิดปกติทางพันธุกรรมของเซลล์ในร่างกายได้
ขวดนมที่มีสาร BPA มักเป็นขวดนมรุ่นเก่า ที่ผลิตจากวัสดุ polycarnonate (PC) ซึ่งมีความแข็งใส และทนทาน แต่ในปัจจุบันขวดนมรุ่นใหม่ส่วนมากผลิตจาก polypropylene (PP), polyethersulfone (PES), polyphenylsulfone (PPSU) ซึ่งไม่มีสาร BPA ในกระบวนการผลิตอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมองหาคำว่า BPA Free แต่ควรพิจารณาจากชนิดพลาสติกตามที่ได้กล่าวมา ซึ่งมักจะระบุไว้ที่ข้างกล่องหรือก้นขวดค่ะ
บทความแนะนำ BPA Free ในของใช้เด็กบอกอะไรคุณแม่
นอกจากขวดพลาสติกแล้ว คุณแม่ยังมีตัวเลือกอื่นๆ ในการเลือกขวดนม ได้แก่
ขวดแก้ว
ขวดนมแบบขวดแก้วนั้น มีข้อดีคือ ลดความเสี่ยงจากสาร BPAในพลาสติกเมื่อถูกความร้อน และเกิดรอยขีดข่วนยากกว่าขวดพลาสติก ขวดนมแก้วมีอายุการใช้งานไม่จำกัด จนกว่าจะแตก หรือมีรอยขีดข่วนในขวดมาก แต่มีข้อเสียคือ มีน้ำหนักมากกว่า ตกแตกได้ง่าย ราคาแพงกว่า และมีไม่กี่ยี่ห้อให้เลือก
ขวดนมลดอาการโคลิค
หากเจ้าตัวน้อยมีอาการงอแงรุนแรงในช่วง 3 เดือนแรก โดยร้องต่อเนื่องกันนานเป็นชั่วโมง และมักจะร้องในเวลาเดิมๆ อุ้มก็ไม่หยุดร้อง ให้ดูดนมก็ไม่ยอมกินนมง่ายๆ กํามือจิกเท้างอขา หลับตาแน่น สลับกับเบิกตาโพลง เรียกอาการนี้ว่า โคลิค ซึ่งอาจเกิดจากการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ร่วมกับอาการปวดท้องจากแก๊สในกระเพาะอาหารเป็นตัวกระตุ้น คุณแม่อาจเลือกใช้ขวดนมลดอาการโคลิค ที่ออกแบบมาเพื่อให้ลมเข้าท้องขณะดูดนมน้อยลง อย่างไรก็ตามไม่มีขวดนมแบบไหนที่สามารถป้องกันอาการโคลิคได้ 100% มีแต่ช่วยลดอาการโคลิคให้น้อยลงเท่านั้น วิธีที่ดีที่สุด คือการไล่ลมออกจากท้องเจ้าตัวน้อย ด้วยการจับเรอเป็นพักๆ ระหว่างกินนม และหลังกินนมทุกครั้งค่ะ
จำเป็นต้องนึ่งขวดนมทุกวันหรือไม่?
พ.ญ.สิทธิ์ธีราห์ ชโรเต้อร์ อธิบายว่า การนึ่งหรือต้มขวดนมและจุกนมทุกวันจะทำให้ขวดนมพลาสติกและจุกนมเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ การล้างด้วยน้ำสบู่อุ่นๆ หรือล้างด้วยน้ำร้อนผสมน้ำยาล้างขวดนมหลังใช้งานก็เพียงพอแล้ว
การขยันทำให้ปลอดเชื้อมากเกินไป กลับเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เชื้อที่ทนความร้อน และสร้างสปอร์ได้เพิ่มมาก และเจ้าตัวน้อยจะอาจได้สารพวกโพลีเมอร์ หรือฟอร์มัลดีไฮด์ปนเปื้อนออกมาจากพลาสติกที่เสื่อมสภาพแทน
ทั้งนี้สมาคมกุมารแพทย์อเมริกัน และ USFDA แนะนำให้ต้ม หรือนึ่งฆ่าเชื้อขวดนม และอุปกรณ์ปั๊มนมเฉพาะครั้งแรกที่ใช้งาน จากนั้นให้ล้างด้วยน้ำสบู่ หรือน้ำยาล้างขวดนมผสมน้ำอุ่น ทุกครั้งหลังใช้งานก่อนผึ่งให้แห้ง โดยไม่ให้ใช้ผ้าเช็ด
กรณีที่ต้องต้ม หรือนึ่งฆ่าเชื้อทุกวัน คือช่วงทารกป่วย เช่น ท้องร่วง หรือ เป็นฝ้าขาวในปาก คุณแม่ที่กังวล อาจนึ่งหรือต้ม ทุก 3-4 วัน สำหรับนมชง อาจนึ่งหรือต้มทุก 1 สัปดาห์สำหรับนมแม่ หากมีการปล่อยให้นมบูดคาขวด ต้องต้มหรือนึ่งฆ่าเชื้อใหม่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีกฎตายตัว หากบ้านมีสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด อยู่ใกล้แหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค อาจพิจารณาต้ม หรือนึ่งให้บ่อยขึ้นได้ สำหรับคุณแม่ที่กังวลมาก หรือมีความจำเป็นที่จะต้องฆ่าเชื้อทุกวันจริง ๆ แนะนำให้ใช้ขวดนมแก้วแทนพลาสติกจะดีกว่า หรือขยันเปลี่ยนขวดนมพลาสติกตามอายุการใช้งาน หรือใช้ยาฆ่าเชื้อสำหรับแช่ขวดนมโดยเฉพาะผสมน้ำเย็น แช่ขวดนมแทนการต้มฆ่าเชื้อ ก็มีประสิทธิภาพสูง และถนอมพลาสติกได้ดี
ข้อมูลจาก พ.ญ.สิทธิ์ธีราห์ ชโรเต้อร์