Last updated: 15 มิ.ย. 2564 | 3482 จำนวนผู้เข้าชม |
เทคนิคและวิธีเลือกเครื่องปั๊มนม
แน่นอนว่า น้ำนมแม่นั้นเป็นสารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย ซึ่งคุณแม่ทุกท่านต่างก็อยากที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปได้นานๆ แต่สำหรับคุณแม่บางท่านที่อาจจะมีความจำเป็นบางอย่าง ทำให้ไม่สามารถให้นมลูกจากเต้าของคุณแม่ได้ เช่นต้องกลับไปทำงาน หรือมีธุระนอกบ้านที่ไม่สามารถพาลูกไปได้ ก็ไม่ต้องเป็นกังวลใจไปนะครับ เพราะยังมีอีกหลายวิธีที่จะทำให้ลูกได้กินนมแม่ในตอนที่คุณแม่ไม่อยู่ หนึ่งในนั้นคือการปั๊มนมเพื่อเก็บน้ำนมสำรองไว้ให้ลูกน้อย แต่เอ๊ะ…แล้วการปั๊มนมทำได้อย่างไรบ้างล่ะ ?
ก่อนอื่นเลยเรามาดูก่อนว่า การปั๊มนมนั้นทำได้อย่างไรบ้าง
โดยหลักแล้วการปั๊มนมนั้นทำได้หลายวิธี แต่ละวิธีต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป คุณแม่สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมได้ตามสถานการณ์ของแต่ละคน ซึ่งวิธีหลักๆนั้นมีดังนี้
-การบีบน้ำนมแม่ด้วยมือ
-เครื่องปั๊มแบบมือ (Manual)
-เครื่องปั๊มนมแบบไฟฟ้า
คุณแม่ที่ถนัดที่จะใช้วิธีการบีบน้ำนมแม่ด้วยมือก็สามารถติดตามอ่านวิธีการบีบน้ำนมแม่ด้วยมือได้ในบทความด้านล่างนี้เลยนะครับ
>>วิธีบีบน้ำนมแม่ด้วยมือ แต่ละขั้นตอนทำอย่างไร<<
แต่สำหรับคุณแม่ท่านใดที่อาจจะไม่ถนัดกับการบีบน้ำนมแม่ด้วยมือ ก็อาจจะต้องพิจารณาเลือกซื้อเครื่องปั๊มนมสักเครื่อง แต่เครื่องปั๊มนมนั้นก็มีทั้งแบบที่ใช้มือ มีทั้งแบบที่ใช้แบตเตอรี่ และไฟฟ้า อีกทั้งยังมีแบบปั๊มได้ทีละข้างหรือสองข้าง แล้วทีนี้จะเลือกอย่างไรดีล่ะ?
คุณสมบัติของเครื่องปั๊มนมที่ควรพิจารณา
เครื่องปั๊มนมแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อนั้น ต่างก็มีคุณภาพและลักษณะที่แตกต่างกัน สำหรับปัจจัยในการพิจารณาเลือกเครื่องปั๊มนมของคุณแม่นั้นมีดังนี้
1.ประสิทธิภาพของแรงดูดและรอบดูด
เครื่องปั๊มนมที่ดีนั้นจะมีจังหวะการปั๊มเลียนแบบการดูดของทารก ปกติแล้วเครื่องปั๊มที่ใกล้เคียงการดูดของทารกในช่วง 6 - 12 สัปดาห์ จะต้องมีแรงดูดอย่างน้อย 200 mmHg และรอบการดูดอย่างน้อย 40 – 60 รอบต่อนาที แต่หากว่าร่างกายของคุณแม่มีการผลิตน้ำนมที่ดี การปั๊มนมในช่วงนี้ก็จะง่ายและได้น้ำนมปริมาณมาก แม้ว่าจะใช้เครื่องปั๊มนมที่มีรอบดูดต่ำกว่า 40 ครั้งต่อนาทีก็ตามแต่หากคุณแม่จำเป็นต้องปั๊มนมนานกว่า 4 เดือนขึ้นไปก็ควรเลือกเครื่องปั๊มนมที่มีรอบดูดมากกว่า 40 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป จะทำให้ปั๊มนมออกได้มากกว่า
2.ขนาดของเครื่องปั๊ม
สำหรับคุณแม่ที่เดินทางบ่อย หรือคุณแม่ที่ต้องขนย้ายเครื่องปั๊มนมบ่อยๆ ก็ควรพิจารณาถึงเรื่องขนาดของเครื่องปั๊มนม เพื่อความสะดวกของคุณแม่เอง
3.แหล่งพลังงานที่ใช้
เครื่องปั๊มนมแต่ละรุ่นนั้น ใช้แหล่งพลังงานต่างกัน บางรุ่นก็ใช้ไฟบ้านได้อย่างเดียว ในขณะที่บางรุ่นก็ใช้ได้ทั้งไฟบ้านและถ่านแบตเตอรี่ โดยที่ถ่านแบตเตอรี่นั้นก็มีทั้งแบบชาร์จไฟได้หรือแบบใช้แล้วทิ้ง บางรุ่นก็มีสายชาร์จสำหรับใช้ในรถยนต์มาให้ด้วย คุณแม่สามารถเลือกเครื่องปั๊มนมได้ตามสถาณการณ์อย่างเช่น หากต้องเดินทางบ่อยๆ หรือต้องไปในสถานที่ๆไม่มีปลั๊กไฟให้เสียบ ก็อาจเลือกซื้อเครื่องปั๊มแบบที่สามารถใช้ถ่านแบตเตอรี่ได้ เป็นต้น
4.เสียงของเครื่องปั๊มนม
เครื่องปั๊มนมไฟฟ้านั้น ปกติแล้วจะทำงานด้วยกลไกของมอเตอร์ที่จะทำให้มีเสีงเวลาที่คุณแม่ปั๊มนม คุณแม่จึงต้องพิจารณาถึงเรื่องเสียงที่จะไปรบกวนลูกที่กำลังหลับอยู่ หรือหากสถานที่ปั๊มไม่เป็นส่วนตัวก็ต้องระวังเสียงจากเครื่องปั๊มจะไปรบกวนคนรอบข้างได้
เทคนิคและวิธีเลือกซื้อเครื่องปั๊มนม สำหรับคุณแม่ให้นมลูกสิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมในการเลือกเครื่องปั๊มนม
-ทำความสะอาดง่าย
-กรวยมีขนาดพอดีกับเต้านม รู้สึกสบายขณะใช้ ไม่ทำให้เจ็บหัวนมหรือทำให้ผิวหนังถลอก
-ใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน
-มีเอกสารแนะนำวิธีใช้ที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย
-ราคาของเครื่องปั๊มนมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ
-เครื่องปั๊มนมชนิดปั๊มได้ครั้งละ 2 ข้าง จะสะดวกรวดเร็วกว่า และกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนโปรแลคตินได้มากกว่า แต่ราคาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
ข้อคิดก่อนเลือกเครื่องปั๊มนม
คุณควรนึกถึงว่าต้องใช้งานเครื่องปั๊มนมบ่อยแค่ไหน ถ้าใช้ไม่บ่อย ใช้แค่บางเวลา ก็ควรเลือกเครื่องปั๊มนมแบบใช้มือที่ราคาไม่แพงจะเหมาะสมกว่า
ควรเลือกซื้อเครื่องปั๊มนมที่ผลิตจากบริษัทที่เชื่อถือได้ มีการรับประกันสินค้าและมีบริการหลังการขายหรือแผนกให้ความช่วยเหลือลูกค้า ที่สำคัญคือเรื่องของการรับทำความสะอาดเครื่องปั๊ม เพื่อให้น้ำนมแม่นั้นปลอดเชื้อก่อนที่จะนำไปป้อนลูกน้อย
เครื่องปั๊มนมที่มีคุณภาพนั้นจะช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ง่ายขึ้น และหากคุณแม่ใช้เครื่องปั๊มนมที่ด้อยคุณภาพ ก็อาจทำให้เจ็บและเสียเงินเปล่า ก่อนที่จะเลือกใช้เครื่องปั๊มนมคุณแม่จึงควรตรวจสอบข้อมูลหรือสอบถามจากคุณแม่ท่านอื่นที่เคยใช้งาน แล้วพิจารณาดูว่าแบบไหนเหมาะกับตัวเองที่สุด และสำหรับคุณแม่ท่านใดที่มีเทคนิคดีๆอยากจะร่วมแบ่งปันก็สามารถแสดงความคิดเห็นกันเข้ามาได้นะคะ
ที่มา breastfeedingusa.org, thaibreastfeeding.org, healthymax